ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่

 



15 ธ.ค.59 ที่ผ่านมา ร่วมประชุมหารือ เรื่อง “
ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่” ณ สกอ.โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน ปลัด ศธ. เลขา สกอ. ทปอ. ฯลฯ


-ระบบใหม่จะมีการรับนักเรียนทั้งหมด 5 รอบ
-นักเรียนจะต้องสละสิทธิ์ที่สอบเข้าเรียนได้ไว้ก่อน หากจะสมัครเข้าเรียนที่ใหม่ (1คน1สิทธิ์)
-ระบบใหม่นี้จะเริ่มปี 2561



ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้นำเสนอแนวทางการรับนักศึกษาเข้าระดับอุดมศึกษา 2561 สรุปดังนี้


1.วัตถุประสงค์ของระบบรับนักศึกษาเข้าเรียนในอุดมศึกษา 2561 คือ 

(1) นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบ ม.6 
(2) นักเรียนต้องไม่วิ่งรอกสอบ 
(3) ระบบการรับเข้าไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนมากเกินไป 
(4) นักเรียนมีสิทธิ์เลือกสาขาที่ต้องการเรียน 
(5) มหาวิทยาลัย/สถาบันสามารถเลือกนักเรียนได้ตรงกับความต้องการ 
(6) นักศึกษาสามารถสมัครได้หลายวิชา แต่มี 1 สิทธิ์ในการตัดสินใจเรียนในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เมื่อตัดสินใจเลือกแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์จากการสมัครสอบรอบถัดไป 
ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อ 6) เป็นวัตถุประสงค์ที่ ทปอ.เพิ่มเติมจากแนวทางของ รมว.ศธ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ



2.Timeline การรับนักศึกษาเข้าเรียนในอุดมศึกษา 2561 

(1) เดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ รับสมัครศึกษาโควตาทั้งแบบไม่ใช้สอบข้อเขียน (Entry by Portfolio) และแบบมีสอบข้อเขียน เช่น โควตานักกีฬา โควตานักศึกษาในพื้นที่ฯลฯ (เน้นการรับสมัครทางออนไลน์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง)
(2) เดือนกุมภาพันธ์ ประกาศผลการรับสมัครแบบโควตาแบบไม่ใช้สอบข้อเขียน
(3) เดือนมีนาคม – กลางเดือนเมษายน จัดสอบข้อเขียนทั้ง O-NET , GAT, PAT และวิชาสามัญ 9 วิชา รวมทั้งวิชาเฉพาะต่างๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องการ
(4) เดือนเมษายน – พฤษภาคม ประกาศผลโควตาและผลคะแนนสอบข้อเขียน และให้นักศึกษาเลือกว่าจะใช้สิทธิ์ตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยที่ได้โควตาหรือไม่ หากเลือกใช้สิทธิ์เรียนตามที่ได้โควตา ซื่อนักศึกษาจะไม่ได้รับการพิจารณาในขั้นตอน Clearing House 1 หากนักศึกษาต้องการได้รับการพิจารณาในขั้นตอน Clearing House 1 จะต้องสละสิทธิ์จากมหาวิทยาลัยที่ได้โควตา
(5) เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ดำเนินการคัดเลือกในขั้นตอน Clearing House 1 ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกสาขาวิชาได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่ต้องเรียงลำดับ ระบบจะส่งข้อมูลนักศึกษาและคะแนนสอบไปยัง 4 สาขาวิชา เมื่อพิจาณาแล้ว สาขาวิชาทั้ง 4 แห่ง จะส่งคำตอบว่ารับหรือไม่รับนักศึกษากลับมายังระบบ แล้วแจ้งให้นักศึกษาทราบ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยมากกว่า 1 แห่ง จะรับนักศึกษา
(6) เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน นักศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียน สามารถพิจารณาใช้สิทธิ์ในการตัดสินใจเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง หากนักศึกษาเลือกใช้สิทธิ์ในขั้นตอนนี้ ชื่อนักศึกษาจะไม่ได้รับการพิจารณาในขั้นตอน Clearing House 2 แต่ถ้านักศึกษาสละสิทธิ์ ชื่อนักศึกษาจะได้รับการพิจารณาในขั้นตอน Clearing House 2 ร่วมกับนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือก
(7) เดือนมิถุนายน-กรกฏาคม ดำเนินการคัดเลือกในขั้นตอน Clearing House 2 โดยนักศึกษาสามารถเลือกสาขาวิชาได้ 4 สาขาวิชา แต่ต้องเรียงลำดับ และมหาวิทยาลัยจะประกาศผลสาขาวิชาที่นักศึกษาได้รับคัดเลือกเพียงสาขาวิชาเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับระบบ Admissions ในปัจจุบัน นักศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียน สามารถพิจารณาใช้สิทธิ์ในการตัดสินใจเรียน หากนักศึกษาเลือกใช้สิทธิ์ในขั้นตอนนี้ นักศึกษาจะไม่สามารถไปสมัครในขั้นตอนการรับตรงอิสระได้อีก
(8) เดือนกรกฏกาคม-สิงหาคม มหาวิทยาลัยที่ยังต้องการรับนักศึกษา สามารถเปิดรับตรงอิสระ โดยในชั้นตอนนี้ นักศึกษาต้องสมัครโดยตรงกับมหาวิทยาลัย และอาจมีการทดสอบข้อเขียนในวิชาเฉพาะเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ นักศึกษาที่สมัครรับตรงอิสระต้องเป็นนักศึกษาที่ไม่ใช้ในสิทธิ์ในขั้นตอนก่อนหน้า (โควตา, Clearing House 1 และ Clearing House 2) มิเช่นนั้น นักศึกษาต้องสละสิทธิ์จากมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาไปแล้วก่อน จึงจะสามารถสมัครรับตรงอิสระได้



3. ประเด็นสำคัญของแนวทางการรับนักศึกษาเข้าระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ คือ 
ต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์นักศึกษาก่อนที่จะรับสมัคร หากนักศึกษาใช้สิทธิ์ตัดสินใจเรียนแล้ว จะไม่สามารถสมัครมหาวิทยาลัยอื่นได้ และทุกมหาวิทยาลัยเมื่อรับนักศึกษาที่ใช้สิทธิ์เข้าเรียนแล้ว ต้องส่งรายชื่อไปให้ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบ Clearing House 


4.ต้องเร่งให้สถานศึกษาส่งผล GPA,GPAX และ PR ของนักเรียนโดยเร็ว
 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาสามารถดำเนินการได้ตามปฏิทินที่กำหนด (ไม่เกิน 15 เม.ย.)


5. แนวทางการรับนักศึกษาเข้าเรียนในอุดมศึกษา 2561
 ไม่รวมมหาวิทยาลัยเอกชน แต่มหาวิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ


6. ต้องสร้างความเข้าใจในแนวทางการับนักศึกษาแนวใหม่
กับทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง




ขอบคุณที่มา :: Eduzones.com
 

©2005-2011 www.kru-somsri.ac.th All rights reserved