ปรับระบบเข้ามหาวิทยาลัย นร. มี 1 สิทธิ์





                    จากการประชุมเรื่องการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่ ซึ่งมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.), ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ. มทร.) สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดย นพ.ธีระเกียรติ เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการจัดสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระบบใหม่ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนจนจบหลักสูตร ม.ปลาย, ลดภาระค่าใช้จ่าย, ลดการวิ่งรอกสอบ, เด็กเลือกสาขาที่ต้องการเรียนตามความถนัด, สถาบันอุดมศึกษาเลือกนักเรียนได้ตามความต้องการ โดยเริ่มปีการศึกษา 2561 

                    ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า ระบบการสอบคัดเลือกระบบใหม่จะมี 5 รอบ ได้แก่
1. ระบบรับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยไม่มีการสอบ
2. ระบบโควตาหรือรับตรงโดยใช้ข้อสอบกลาง จัดสอบช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.
3. ระบบเคลียริ่งเฮาส์ รอบแรก
4. ระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์รอบสอง
5. ระบบรับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเปิดสอบวิชาเฉพาะได้เอง

                    ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของทปอ. จะร่วมดำเนินการคัดเลือกทั้ง 5 รอบ ส่วนกลุ่ม มทร.จะเข้าร่วมเฉพาะระบบรับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยไม่มีการสอบ, ระบบโควตาหรือรับตรงโดยใช้ข้อสอบกลาง และระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบแรก ส่วนกลุ่ม มรภ. จะเข้าร่วมทุกระบบ ยกเว้นเคลียริ่งเฮาส์รอบ 2

                    ทั้งนี้ นักเรียนจะต้องรู้ข้อมูลต่างๆก่อนเดือน ต.ค.2560 การปรับเปลี่ยนครั้งนี้นักเรียนจะมีเพียง 1 สิทธิ์ในการเข้าศึกษาเท่านั้น ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาการกั๊กที่เรียนเหมือนที่ผ่านมา และจะมีการออกเป็นประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาจะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ต่อข้อถามถึงผลกระทบจากการที่ มรภ.และ มทร. เข้าร่วมเฉพาะเคลียริ่งเฮาส์ครั้งที่ 1 เท่านั้น

                    ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้แทน มรภ.และ มทร. แล้วว่า หากเข้าเคลียริ่งเฮาส์รอบแรกเพียงอย่างเดียว เมื่อ ทปอ.ดำเนินการช่วงเคลียริ่งเฮาส์รอบ 2 อาจมีเด็กสละสิทธิ์มาเข้าร่วมเคลีย–ริ่งเฮาส์รอบ 2 จำนวนมาก โดยอาจมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนรับก็ได้ เพราะเด็กจะเห็นว่าคณะใดมีการรับเพิ่มเท่าไร ซึ่ง มรภ.และ มทร. ก็ยอมรับความเสี่ยงดังกล่าว. 




ขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก  ไทยรัฐ

©2005-2011 www.kru-somsri.ac.th All rights reserved