Kru Somsri's English School

July 08, 2025, 03:48:04 PM

:    
191147 46430 16643
: JoyBlazer9
*
+  Kru Somsri's English School
|-+  ห้องสนทนาของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษคุณครูสมศรี
| |-+  คุยกับคุณครูสมศรี
| | |-+  จุฬาวิชาการ 51
: [1]
: จุฬาวิชาการ 51  ( 1914 )
องครักษ์แห่งวังแสงสูรย์
ความจำ ถูกลบเลือน
Hero Member
*****
:
: 1539


หน้าตาดี


« : November 19, 2008, 08:37:07 AM »

จุฬาฯวิชาการ’๕๑
พลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
 
 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรั้วจามจุรี นำเสนอองค์ความรู้หลากหลายสาขาจากคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตจุฬาฯ สู่สาธารณชน ในงาน “จุฬาฯวิชาการ’๕๑” ภายใต้แนวคิด “พลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” พบกับนิทรรศการ โครงงานในรูปแบบต่างๆ บูรณาการความรู้จากศาสตร์ทุกสาขาจัดแสดงที่ศาลาพระเกี้ยว และทุกคณะ ประกอบด้วยเมืองต่างๆ ๔ เมือง ๔ สาขา ได้แก่ เมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมืองมนุษยศาสตร์ และเมืองสังคมศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานแถลงข่าวจุฬาฯวิชาการ’๕๑ โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้นคณบดีคณะต่างๆ ในฐานะประธานเมืองและผู้รับผิดชอบในส่วนของเนื้อหาของแต่ละเมืองได้กล่าวถึงจุดเด่นของโครงงานทั้ง ๔ เมือง ประกอบด้วย ศ.นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ (รองประธานเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ)  ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (ประธานเมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ประธานเมืองมนุษยศาสตร์) และ รศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ประธานเมืองสังคมศาสตร์)

นอกจากนี้ภายในงานมีการแสดงโครงงานเด่นในงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ เช่น หุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัตโนมัติ Plasma-Z และหุ่นยนต์กู้ภัย Plasma–RX ซึ่งคว้าตำแหน่งแชมป์โลกการแข่งขัน World Robocup 2008 รถวัดรัศมีความโค้งเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน จักรยานออกกำลังกายอัจฉริยะลดโลกร้อน ยานพาหนะต้นแบบสำหรับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว นาโนเทคโนโลยีสำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่อง ปั้นดินเผาไฟต่ำ ฯลฯ โดยมีทูตจุฬาฯวิชาการพร้อมด้วยนิสิตและคณาจารย์เจ้าของโครงงานให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี กล่าวถึงงานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ ว่า เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกๆ ๓ ปี งานจุฬาฯวิชาการครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ ๒๕๑๕ สำหรับปีนี้เป็นงานจุฬาฯวิชาการครั้งที่ ๑๓ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดใน ๒๐๐ อันดับแรกของโลกจากการประกาศของ The Times Higher Education รวมถึงวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ เมื่อครบ ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๖๐ จุฬาฯ จะเป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน เป็นผู้นำทางปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฉะนั้นจุฬาฯ จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยจะนำองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มาบูรณาการเป็นพลังอันยิ่งใหญ่เพื่อการพัฒนาสังคมไทย นำเสนอสู่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปผ่านโครงงานต่างๆ ในงานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑  ทั้งนี้กิจกรรมต่างๆ ในงานจุฬาฯ วิชาการจะแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน โดยส่วนแรกที่เป็นส่วนกลางจะจัดที่ศาลาพระเกี้ยว นำเสนอโครงงานเด่นของงานจุฬาฯ วิชาการที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประชาชนชาวไทยและชาวโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงในรูปแบบต่างๆ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ความยากจน อาชญากรรม การกดขี่ข่มเหง การแตกแยกในสังคม โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งต้นเหตุของปัญหาคือการเพิ่มของประชากรอย่างมากมาย การบริโภคที่เกินพอดี และการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปทำให้ประเทศชาติขาดการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังนำเสนอกลวิธีในการแก้ ปัญหาด้วยพลังแห่งปัญญาที่จุฬาฯ สร้างสรรค์ขึ้น นิทรรศการต่างๆ ที่ศาลาพระเกี้ยวจะนำเสนอในรูปแบบที่ตื่นตาตื่นใจ โดยใช้สื่อประสม Interactive Media ที่ผู้ชมสามารถตอบโต้ได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นตามคณะต่างๆ  โดยแบ่งออกเป็นเมือง  ๔ เมือง ได้แก่ เมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมีนิทรรศการแสดงถึง ๑๑๓ โครงการ เมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีนิทรรศการ ๑๘๔ โครงการ เมืองมนุษยศาสตร์ จำนวน ๔๓ โครงการ และเมืองสังคม ศาสตร์ จำนวน ๖๐ โครงการ


 
 

 

“งานจุฬาฯวิชาการในครั้งนี้นอกจากจะให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน ความบันเทิง สำหรับทุกเพศทุกวัยแล้ว  นักเรียนที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาที่จุฬาฯ จะได้มีโอกาสมาสัมผัสการเรียนการสอนในคณะต่างๆ ของจุฬาฯ อีกด้วย โดยจะมีการจัดงาน Open House ตามคณะต่างๆ แสดงถึงตัวอย่างการเรียนการสอน สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวในที่สุด

งานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.chulavichakarn2008.com

แหล่งรวมแห่งการนรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ศาลาพระเกี้ยว
ในงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑

                ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดโครงการ “จุฬาฯวิชาการ’๕๑” เปิดเผยว่า งานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ - ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑  ภายใต้แนวคิดหลัก “พลังแห่งปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงพันธกิจของจุฬาฯในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยของแผ่นดิน งานจุฬาฯวิชาการครั้งนี้จะนำเสนอผลงานวิชาการและแนวทางการแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในรูปแบบที่ทันสมัยและเข้าใจได้ง่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่าจุฬาฯไม่ได้ผลิตแค่เพียงบัณฑิตปริญญาตรี และเอกเท่านั้น แต่เป็นแหล่งสร้าง “ปัญญาแห่งแผ่นดิน” ที่พร้อมจะรับใช้สังคมและประเทศชาติ เนื้อหาของนิทรรศการในงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ แบ่งออกเป็น ๔ เมือง ได้แก่ เมืองสังคม ศาสตร์ เมืองมนุษยศาสตร์ เมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ 

ศ.ดร.เกื้อ กล่าวถึงโครงงานต่างๆ ที่น่าสนใจในงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ ในส่วนที่จัดแสดงที่ศาลาพระเกี้ยวว่า จะนำเสนอโครงงานซึ่งเปรียบเสมือนบทสรุปและภาพรวมของโครงการทั้งหมด โดยจัดสรรพื้นที่ ๒,๖๒๗ ตารางเมตรในการจัดนิทรรศการ แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ เหตุแห่งปัญหา  (Root of Crisis) นำเสนอปัญหาอันเป็นวิกฤตของประเทศไทยผ่าน Video ประกอบ Visual&Sound Effects  ในแนวคิด “Butterfly Effect : เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”  ผ่านตัวละครหลักคือเด็กที่มองโลกผ่านมุมมองที่บริสุทธิ์และสดใส  ส่วนที่ ๒ ประกายแห่งปัญญา (The Persuit of Wisdom) นำเสนอที่มาและการเกี่ยวโยงของหลักสมการสูตรแห่งการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ภายใต้พื้นฐานความคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านนิทรรศการ Exhibition Board และเทคนิค Interactive Programs ที่ง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อการพัฒนาและการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้เข้าชมสามารถเลือกชมเนื้อหาของโครงงานในหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจบนจอแบบสัมผัส (Touched Screen) โดยเนื้อหาจะแสดงอยู่บนผนังในห้องแห่งการพัฒนาและเรียนรู้ จากเครื่องฉายภาพขนาดใหญ่ (Projectors) ส่วนที่ ๓ พลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Power of Wisdom for Sustainable Development) นำเสนอโครงการต่างๆ ของจุฬาฯ ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นทางออกในการช่วยลดและแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วย ๕ หัวข้อ ได้แก่ ระบบนิเวศน์และการเปลี่ยนแปลง  มนุษย์และการสรรค์สร้าง นโยบายสาธารณะ ธุรกิจและเทคโนโลยีสีเขียว พลังงานและทางเลือก นอกจากนี้ยังมีห้อง Interactive Map ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปค้นหาตำแหน่งของโครงการที่น่าสนใจของนิสิตนักศึกษาได้ โดยมีนิสิตช่วยอำนวยความสะดวกในการนำผู้ชมไปชมโครงงานตามเมืองต่างๆ อีกด้วย

  หลากหลายสาระความรู้ในเมืองมนุษยศาสตร์
งานจุฬาฯวิชาการ’๕๑

รศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะประธานเมืองมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ เปิดเผยถึงเมืองมนุษยศาสตร์ว่าประกอบด้วย คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันไทยศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย โดยจะมีกิจกรรมหลากหลายมานำเสนอ ทั้งในรูปของนิทรรศการ การแสดง การสาธิต การตอบคำถามและรวมไปถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า จุดเด่นของเมืองมนุษยศาสตร์นั้นประกอบด้วย การแสดงละครนานาชนิด ทั้งละครไทยและเทศ ละครพันทาง ระบำปลายเท้า และละครประยุกต์ เช่น ละครเรื่อง “เจ้าหญิงขี้เซากับเจ้าคางคก” ฯลฯ

รศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อไปว่า รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาในเมืองมนุษย ศาสตร์จะนำเสนอในรูปแบบของอดีต ปัจจุบันและอนาคต เช่น มหันภัยด้านสภาวะแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อให้มนุษย์มีความตระหนักในการป้องกันและแก้ไข ในส่วนของภาคอดีตจะแสดงให้เห็นถึงความพอเพียงของประเทศไทยย้อนกลับไปยังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับตั้งแต่สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสร้างบรรยากาศย้อนยุคทั้งหมด เช่น การแต่งกาย สิ่งของ ของใช้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำเสนอเนื้อหาในส่วนของปัจจุบันให้คนตระหนักถึงปัญหา เพื่อไปสู่วิธีการป้องกันไม่ให้อารยะมาสร้างหายนะให้กับอนาคต เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่มาร่วมงานในเมืองมนุษยศาสตร์จะได้รับประโยชน์ทางความคิด ทำให้ย้อนมองตนเองว่ามีส่วนในการสร้างและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งจะช่วยจุดประกายความคิดให้ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการคิด การกระทำ โดยการปรับวิถีชีวิตของตนเองเพื่อมิให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ประธานเมืองสังคมศาสตร์ งานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ ยังได้กล่าวเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ ซึ่งนอกจากเมืองมนุษยศาสตร์แล้วยังมีเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเมืองสังคมศาสตร์ ความน่าสนใจของเมืองมนุษยศาสตร์จะนำเสนองานวิชาการที่มีชีวิต เพราะกิจกรรมทุกอย่างจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งหมด ผู้มาร่วมงานจุฬาฯวิชาการจะได้รับความรู้ที่หลากหลายจากมุมมองของนิสิตและคณาจารย์ในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยที่คนไทยต้องเรียนรู้

งานจุฬาฯวิชาการ’๕๑ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.chulavichakarn2008.com

  สัมผัสนวัตกรรมล้ำสมัยให้ความรู้แก่ประชาชน
ในเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ งาน “จุฬาฯ วิชาการ’๕๑”

 ศ.นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในฐานะรองประธานเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ งานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ เปิดเผยถึงโครงงานเด่นที่น่าสนใจของเมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพว่า เมืองวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย ๘ คณะ ๑ สำนักวิชา ๑ วิทยาลัย เนื้อหาของงานแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือในส่วนของผลงานนวัตกรรมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น  คณะแพทยศาสตร์ จะนำเสนอเรื่องผิวหนังเทียม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำไปรักษาผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ การผ่าตัดโดยการใช้กล้อง เป็นนวัตกรรมที่สามารถเรียนรู้ข้ามทวีปได้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จะนำเสนอทันตนวัตกรรม การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ โดยภูมิปัญญาของทันตแพทย์ไทย เช่น กาวอุดฟัน รากฟันเทียม การพัฒนาไหมขัดฟันโดยใช้พันธุ์ไหมไทยท้องถิ่น คณะเภสัชศาสตร์ นำเสนอการใช้น้ำมันรำข้าวมาดัดแปลงทำเครื่องสำอาง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จัดแสดงจักรยานอัจฉริยะลดโลกร้อน เนื้อหาของงานอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ประกอบด้วย คณะสัตวแพทยศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสัตว์ คณะสหเวชศาสตร์ มีโครงงานทำนายโรคทางพันธุกรรมในอนาคต ซึ่งอาศัยการถอดรหัส DNA ทางพันธุกรรม วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จะให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยของสตรี คณะจิตวิทยา มีกิจกรรมให้ความรู้ผ่านการแสดงละครเวที เรื่อง “คนปกติที่ไม่ปกติ” ซึ่งจะจัดแสดง ๒ รอบ คือเวลา ๑๔.๐๐ น. และ ๑๗.๐๐ น. ณ อาคารเปรมบุรฉัตร

“ขอเชิญชวนนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสกับนวัตกรรมต่างๆ ที่คณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจุฬาฯ คิดค้นและพัฒนา ขึ้น รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ อีกมากมาย งานจุฬาฯ วิชาการ ๓ ปีมีครั้งเดียว มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสร้างพลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จุฬาฯ” คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในที่สุด

งานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.chulavichakarn2008.com

 เนื้อหาของเมืองสังคมศาสตร์

(รศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ประธานเมืองสังคม ศาสตร์)

สำหรับงานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ ในครั้งนี้ เมืองสังคมศาสตร์ได้มีการนำเสนอเนื้อหา ในประเด็นและแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ สภาวะโลกร้อน แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนอกจากจะจัดแสดงอยู่ในรูปแบบของนิทรรศการตามปกติแล้ว ก็ยังมีการนำเสนอในรูปแบบของการเสวนาวิชาการ การแสดงละคร การโต้วาที และการให้ผู้เข้าชมงานมีส่วนเข้าร่วมในกิจกรรม เช่น การเล่นเกม การแข่งขันต่างๆ

นอกเหนือจากโครงการ ๔โครงการที่ได้มานำเสนอในวันแถลงข่าว ซึ่งได้แก่ ๑) โครงการเรียนรู้และอยู่อย่างพอเพียง: การจัดการศึกษาโดยประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ของคณะครุศาสตร์ ๒) โครงการการนำแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ของคณะเศรษฐศาสตร์ ๓) โครงการคาร์บอนเทรดดิ้งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ๔) โครงการการแสดงละครสอดแทรกกฎหมาย ของคณะนิติศาสตร์  แล้วก็ยังมีโครงการของคณะต่างๆ ในเมืองสังคมศาสตร์ ที่น่าสนใจ ดังนี้

คณะนิติศาสตร์ จะเสนอมุมมองในด้านกฎหมาย ในแง่ของนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ และความสอดคล้องระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะรัฐศาสตร์ จะอธิบายแนวคิดของ การเมืองสีเขียว ว่าเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อสังคม และความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นยังมีการเสวนาวิชาการเรื่องการพลิกภาวะวิกฤตโลกร้อนให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

คณะนิเทศศาสตร์ จะนำเสนอแนวคิดของการใช้การประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในสังคม และร่วมกันรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานภาพนิ่งของนิสิต ตามแนวคิดสภาวะโลกร้อน แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะครุศาสตร์ เสนอแนวคิดของโรงเรียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน การเรียนรู้และการอยู่อย่างพอเพียง และการแสดงดนตรีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

คณะเศรษฐศาสตร์ นำแนวคิดของปรัชญาพอเพียงในสังคมเมือง การนำแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการวิเคราะห์เรื่องของน้ำมันและรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภค

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เสนอแนวคิดของโรงงานสีเขียว และไอทีสีเขียว ว่าเป็นอย่างไร แนวคิดของธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำบัญชีครัวเรือนและการบริหารกองทุนหมู่บ้านเพื่อการดำรงชีวิตแบบพอเพียง แนวคิดความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีบทบาทต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และการแข่งขันเกม “มาลดโลกร้อนกันเถอะ”

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จะเสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับประชากร เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันเอเชียศึกษา จะนำเสนอการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนที่ยั่งยืน วิกฤตโลกร้อนกับมหันตภัยนาร์กีส และแนวคิดของพลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันวิจัยสังคม นำเสนอเรื่องของชุมชนกับการจัดการกับทรัพยากรที่ยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือในการจัดการป่าชุมชน

และโครงการสหสาขา โดยบัณฑิตวิทยาลัย จะเสนอแนวคิดของเมืองเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้มุมมองผ่านงานวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และสังคม

 เมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในจุฬาฯ วิชาการ’๕๑

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานเมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หนึ่งใน ๔ เมืองแห่งการเรียนรู้ในงานจุฬาฯ วิชาการ’๕๑ เปิดเผยว่า เมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันการขนส่ง สถาบัน วิจัยทรัพยากรทางน้ำ สถาบันวิจัยพลังงาน สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา และบัณฑิตวิทยาลัย กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจะอยู่ภายใต้ ๓ หัวข้อหลัก ได้แก่ โลกร้อน เศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีโครงงานทั้งหมด ๑๘๔ โครงงานที่ได้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย และอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะ สำหรับโครงงานที่โดดเด่นของเมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในงานจุฬาฯ วิชาการครั้งนี้ จะเน้นโครงงานที่มีรูปธรรมชัดเจน อาทิ คณะวิศวกรรม ศาสตร์มีการสาธิตหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัตโนมัติ Plasma-Z และหุ่นยนต์กู้ภัยอัตโนมัติ Plasma-RX ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก World Robo Cup 2008 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และรถวัดรัศมีความโค้งถนน รถต้นแบบที่จะนำไปพัฒนาใช้กับรถสำรวจจริงของกรมทางหลวงเพื่อการจำกัดความเร็วของรถ โดยช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับรถสำรวจแบบเดิม คณะวิทยาศาสตร์มีรถเข็นสำหรับคนพิการสั่งการด้วยเสียงพูด ซึ่งแม้ผู้พิการที่พูดไม่ชัดก็สามารถใช้ได้ นาโนซิลเวอร์และนาโนโกลด์ การทำให้เงินและทองเป็นอนุภาคขนาดนาโนและมีความเข้มข้นสูงจนมีลักษณะหนืดเป็นโคลน ซึ่งเป็นนวัตกรรมของโลก มีการจดสิทธิบัตรและมีบริษัทเกือบ ๑๐ บริษัทที่นำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าเชื้อ เช่น เครื่องทำน้ำดื่ม รถพยาบาล สบู่ น้ำยาซักผ้า  ฯลฯ ยางโพลีเมอร์ที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อถึงอุณหภูมิที่กำหนดและสามารถควบคุมให้กลับเป็นสีเดิมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำกล่องบรรจุยาที่การกำหนดอุณหภูมิในการเก็บรักษา สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุมีเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ ซึ่งประหยัดพลังงานและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ที่ออกสู่บรรยากาศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีรถยนต์ต้นแบบสำหรับผู้พิการ เป็นต้น ทั้งนี้พื้นที่ในการจัดงานของเมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะครอบคลุมตั้งแต่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรม ศาสตร์  และคณะวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ร่วมกับส่วนกลางที่ลานจอดรถข้างศาลาพระเกี้ยว ลานหน้าสระน้ำ จุฬาฯ และอาคารมหามกุฏ

ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวเชิญชวนผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในเมืองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีว่า ในงานจะมีการนำเสนอทั้งผลงานวิจัยแนวหน้าระดับประเทศ งานวิจัยที่เน้นสร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชน ตลอดจนความรู้ที่สร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ จึงเหมาะสมกับทั้งนักเรียนที่ต้องการความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เข้ามาศึกษาด้านนี้ต่อไป นิสิตนักศึกษาที่ต้องการข้อมูลในการศึกษาต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอก ขณะที่อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ที่มาเยี่ยมชมงานก็จะทำให้เกิดแนวคิดในการทำวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะปัจจุบันงานวิจัยจะไม่แยกเป็นศาสตร์ต่างๆ แต่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้มิติหลายมุมมอง หรือหากอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ สนใจก็จะนำไปสู่ความร่วมมือในการทำงานวิจัยได้ เพราะจุฬาฯ มีความเชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีมและมีนโยบายสนับสนุนการร่วมทำงานวิจัยข้ามมหาวิทยาลัย

 
 

="P
kznot
Hero Member
*****
:
: 1878


ผมยาว ก้องี้เเหละ


« #1 : November 19, 2008, 08:58:05 PM »

ไปขุดกระทู้ก่อนๆ กันเถอะ
 

Kznot,Suankularb
SK 131
http://kuzznon.hi5.com


I'M SE7EN BETA TESTER
: [1]  
:  

+

Sorry, the copyright must be in the template.
Please notify this forum's administrator that this site is missing the copyright message for SMF so they can rectify the situation. Display of copyright is a legal requirement. For more information on this please visit the Simple Machines website.