คือตอนนี้หนูอยู่ม.5นะคะ แล้วเมื่อตอนม.4หนูเป็นเด็กขี้เกียจไม่สนใจเรียน มารู้สึกตัวก็ตอนปิดเทอมม.4ขึ้นม.5 พอรู้สึกว่าต้องตั้งใจเรียนหนูก็กลายเป็นเด็กบ้าเรียน เพื่อนฝูงหนูก็ไม่ค่อยสนใจ แต่หนูมีเพื่อนสนิท4คนอยู่นะคะ คือตั้งแต่หนูตั้งใจเรียนหนูก็ไม่ชอบไปไหนมาไหนกับเพื่อน อย่างไปเรียนพิเศษหนูก็จะเรียนรอบที่เพื่อนไม่เรียน เพื่อนชวนไปไหนหนูก็ไม่ค่อยไป อย่างช่วงนี้ใกล้กีฬาสี เพื่เือนๆในห้องเค้าไปทำอุปกรณ์กีฬาสี หนูก็ไม่อยากไป เพราะหนูเสียดายเวลาอ่านหนังสือของหนู คือเวลาไปเพื่อนๆเค้าก็เล่นกันไม่ค่อยทำงาน แต่พอเอาไปเอามาหนูเริ่มรู้สึกว่าหนูไม่มีเพื่อน เพื่อนสนิทหนูก็ยังมีนะคะ เพียงแต่กับเพื่อนคนอื่นๆในห้อง หนูเริ่มรู้สึกว่าเหมือนหนูอยู่คนละโลกกับพวกเค้าแล้วค่ะ พวกเค้ายังไม่เตรียมตัวอ่านหนังสือกันสักคนเลยนะคะ เอาแต่เที่ยวเล่นไปวันๆ
หนูทำไงดีอะคะ ที่จริงหนูตั้งใจว่าเพื่อนค่อยไปหาตอนเข้ามหาลัยได้ก็ได้ แต่หนูก็รุ้สึกเหมือนตัวเองกำลังทิ้งชีวิตม.ปลายไปยังไงก็ไม่รู้
มนุษย์เราประกอบด้วยร่างกาย แล จิตใจ
หากขาดสมดุล ชีวิตจะเกิดความไม่มั่นคงและอ่อนไหวทางจิตใจ
ทาง "สายกลาง" ซึ่งถือว่าสำคัญยิ่ง
อ่านหนังสือจนลืมทุกสิ่ง ในระยะยาวจะส่งผลถึงการขาดทักษะที่จะนำไปใช้ในการเกี่ยวข้องกับมนุษย์
เล่นอย่างเดียว ทำกิจกรรมอย่างเดียว แม้จะมากด้วยทักษะการข้องเกี่ยวกับมนุษย์
แต่กลับขาดทักษะ "การสงบนิ่ง" และ "การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม"
สัดส่วนชีวิต ไม่จำเป็นจะต้อง 50 : 50
แต่สัดส่วนจะแปรไปตามกาลเวลาและบุคคล และลำดับความสำคัญภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัด
อะไรสำคัญก่อนก็มาก่อน ในปริมาณที่มากกว่าสิ่งที่สำคัญรองลงไป ณ ขณะนั้นๆ
คนที่อยู่กับตนเองและเสียดายเวลา
มองกิจกรรมสันทนาการบางอย่างเป็นเรื่องไร้ค่า
สุดท้ายก็จะเก่งตามที่ตนเองบ่มเพาะมา
แต่กลับพูดเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากเรื่องที่จิตพะวงอยู่
ถ้าเป็นเด็กเก่งก็คงพูดได้เเต่เรื่องการเรียน หรือการงานที่ตนเองคร่ำหวอด
เรื่องสังคมรอบข้าง เรื่องจิตใจที่อ่อนโยน เริ่มถอยห่างออกไป เพราะถูกมองข้ามหรือไม่ใส่ใจ
บางครั้งก็จะเข้ากับใครลำบาก นอกจากคนในกลุ่มหรือประเภทเดียวกัน
แต่คนกลุ่มเดียวกันก็มักจะคำนึงถึงคะแนนมาอันดับหนึ่ง
จึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน และบ่มเพาะความกร่นทุกข์กร่นโศก ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว
มารู้อีกที ก็พบว่าทำไมความสุขของตนจึงเหลือน้อยลง
คนกลุ่มนี้จะคิดว่า"เวลา" มีค่าสูงสุดและมีความสัมพันธ์กับการสร้างเป้าหมายของชีวิตจนลืมเห็นความงดงามระหว่างเส้นทางของชีวิตอีกด้านหนึ่ง
หรือเรียกคนประเภทนี้ว่า IQ ดี แต่ EQ ไม่สู้จะดีนัก
พอมีครอบครัวก็อาจต้องวิ่งบนลู่แข่งขันต่อไปด้วยความคุ้นชิน
ไร้สุข กร่นทุกข์ จนวันหนึ่งอาจมีครบทุกอย่างยกเว้น "ความสุข" และ"มิตรภาพที่ดี"ในครอบครัวและรหว่างผู้คน
ธงที่ปักลง ก็คงไม่พ้นเรื่อง "ลาภยศ" เมื่อเติบใหญ่ เฉกเช่นสมัยเรียนที่มุ่งเน้น "คะแนน"เป็นหลัก
ไม่เคยให้เวลากับใครเพราะเวลามีค่าต่อการสร้างความสำเร็จให้ตนเอง
พอมาเป็นครอบครัว ลูกและคู่ครองจึงตามมาเป็นอันดับรองจากงานและผลของงานที่ตนตั้งเป้าไว้
ด้วยเหตุนี้
คนเราจึงต้องมีความพอดี และมีความปกติของจิตใจคือไม่ต้องกระเสือกกระสนให้ทะลุเป้าหมายที่ท้ายที่สุดกลับมาสกัดความสุขของตน
ถ้าจะขยันก็เพราะขยัน ไม่ใช่ขยันเพราะกลัว ขยันเพราะไม่อยากให้น้อยหน้าใคร หรือขยันเพราะตนต้องเป็นที่หนึ่ง
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำไปให้ทุกข์ แล้วจะไปหาสุขจากไหนในได้ปัจจุบันล่ะคะ
ท่านพุทธทาสจึ่งเรียกการศึกษาเช่นนี้ว่า "การศึกษาหมาหางด้วน"
เป็นการศึกษาที่ทำให้ตัวเราขาดความสมดุลหรือไม่สมประกอบโดยตัวเราเองก็ยังมองตัวเราเองไม่เห็น
มีหลายท่านที่แข่งขันกันจนเป็นชนชั้นนำ
แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กระชากม่านชีวิตให้ดูว่า
ชีวิตเขาเหล่านั้นประสบความสุขเหมือนตัวเลขในสมุดพกหรือสมุดบัญชีเงินฝากหรือเปล่า
แต่เมื่อผู้คนพากันมองภายนอกว่า นี่คือ"ความสำเร็จ" ผู้คนจึงพากันทำตาม
เหมือนสุนัขที่ลุกขึ้นมายอมตัดหางตนเองออกเพราะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าการตัดหางออกเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวสุนัขเอง
ชีวิตจึงกระทำตามกันโดยขาดปัญญาแยกแยะจนชีวิตขาดสุขและทุกข์กลับทวี อุปมาดั่งสุนัขที่เสียสมดุลในสรีระ
คุณครูคิดว่า
หนูควรให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่ควรผ่อนความเค้นเครียดด้วยการให้ความสำคัญด้านจิตใจมากขึ้นกว่าเดิม
ใส่ใจเพื่อนฝูงบ้าง เห็นใจและมีน้ำใจต่อกันและกันบ้าง อภัยให้กันบ้าง
เรียนรู้ชีวิตทางอ้อม ผ่านชีวิตของเพื่อนบ้าง
แล้วหนูจะเริ่มเข้าใจว่า การสะสมเกรดเป็นสิ่งดี
แต่จะดีขึ้นถ้าเราสะสมความดีที่ส่งมอบและส่งต่อให้กันและกันในสังคม
หนูจับความรู้สึกเก่งมากลูก
ถึงได้ถ่ายทอดความทุกข์และความโดดเดี่ยวออกมาเป็นตัวอักษร
ลองใหม่นะลูก
คนเก่ง คือเก่งที่จะใช้หนึ่งชีวิตที่ได้มาอย่างมีสุข
ควาสุขฉับพลัน ( instant happiness) จะผุดบังเกิดหากหนูเรียนรู้ที่จะให้ และร้จังหวะที่จะรับ ได้อย่างมีดุลยภาพ
และพลังเหล่านนี้จะไปเกื้อหนุนให้การเรียนของหนูมีพลัง
เพราะความเก่งของหนู จะเป็นความเก่งที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรอบข้าง
ลองดูนะคะ
สุขนิยมบนความดีที่ไม่ยึดดี
กับสุขนิยมบนวัตถุนิยม และการไปสู่เส้นชัยอย่างโดดเดี่ยว
ให้ผลที่มีรสหอมหวานต่างกันค่ะ
คุณครูเป็นกำลังใจให้นะคะ